EP.2 (12A1) | ประชุมวิชาการมานุษยวิทยา 66 หัวข้อ ชีวิตภาคสนาม (life,ethnographically!)

625 View | 17 ส.ค. 2566

2

(12A1) ปาฐกถา ภววิทยาสนาม: ประวัติศาสตร์การวิจัยสนามในมานุษยวิทยา

โดย รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัย


ในงานประชุมวิชาการมานุษยวิทยา 66 "ชีวิตภาคสนาม Life, Ethnographically!
เราได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นองค์ปาฐกในการประชุมวันแรก วันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.15-10.15 น. ที่หอประชุม ชั้น 4 ในหัวข้อ "ภววิทยาสนาม: ประวัติศาสตร์การวิจัยสนามในมานุษยวิทยา"

ในห้วงสมัยของการตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและการถั่งโถมของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โลกกำลังแสวงหาแบบวิถีการดำรงชีพ (mode of worlding) อย่างใหม่ สภาวะนี้เรียกร้องให้นักมานุษยวิทยา ตลอดจนปัญญาชนทั้งในโลกวิชาการและโลกปฏิบัติการ ต้องครุ่นคิดทบทวนถึงขีดจำกัดของตนเอง เพื่อสร้างความรู้ที่ตระหนักต่อภาวะการณ์ปัจจุบันและจินตนาการถึงสิ่งที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตอันใกล้ให้มากขึ้น งานศึกษาภาคสนามอันเป็นจุดแข็งของมานุษยวิทยาจึงสมควรได้รับการทวนสอบด้วยเช่นกัน

นอกเหนือจากการทวนสอบทางญาณวิทยาซึ่งเป็นคุณูปการสำคัญของมานุษยวิทยายุคหลังสมัยใหม่ (postmodern anthropology) แล้ว มานุษยวิทยายุคหลังมนุษยนิยมหรือมานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ (posthuman anthropolgy) จำต้องทวนสอบภววิทยาของการทำงานสนาม (ontology of the fieldwork) โลกะชีวะ (lifeworld) ทางวัตถุ-สรรรพชีวิน-สังคมการเมืองของการวิจัยภาคสนามจำต้องได้รับการทบทวน อาศัยการศึกษางานวิจัยทางมานุษยวิทยาและประสบผัสสะ-อารมณ์-การครุ่นคิดต่อการวิจัยสนามของตนเอง อย่างเชื่อมโยงเปรียบเทียบงานวิจัยสากลกับงานวิจัยในประเทศไทย

บทบรรยายนี้นำเสนออดีตและอนาคตของหลากภววิทยาของการวิจัยสนามและการนำเสนองานมานุษยวิทยา (ontologies of ethnographic fieldwork and representation) ในสามส่วนด้วยกัน ส่วนแรก บททวนสอบภววิทยาของการวิจัยสนามที่ครอบงำมานุษยวิทยาในอดีตและปัจจุบัน กล่าวได้ว่า ภววิทยาการวิจัยและการนำเสนอผลงานแบบนี้วางอยู่บนภววิทยาแบบทวิภาวะ (dualistic ontology of the fieldwork) ส่วนต่อมา บทสำรวจแนวโน้มปัจจุบันและอนาคต ที่เสนอแนวทางการวิจัยสนามแบบวิภาษพหุภาวะ (multi-dialectic ontologies of the fieldwork) ส่วนสุดท้าย เป็นการทำให้ภววิทยาสนามสากลกลายเป็นภววิทยาถิ่นที่ (provincializing fieldwork) ด้วยการวิพากษ์ภววิทยาการวิจัยของผู้บรรยายเอง ผ่านตรวจสอบตนเองในฐานะที่เป็นจุดตัดของภววิทยาสนามโลกาสากลและภูมิภาคพื้นถิ่น

วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 เวลา 9.15-10.15 น. ณ หอประชุม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ความคิดเห็น

วีดีโอที่เกี่ยวข้อง