EP.28 (14A1) | ประชุมวิชาการมานุษยวิทยา 66 หัวข้อ ชีวิตภาคสนาม (life,ethnographically!)

486 View | 17 ส.ค. 2566

1

(14A1) ปาฐกถา โบราณคดีสนาม  ในฐานะของงานชาติพันธุ์วิทยาระยะยาว 

โดย ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

วันสุดท้ายของการประชุมมานุษยวิทยา 66 "ชีวิตภาคสนาม Life, Ethnographically! วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2566 เราได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นองค์ปาฐก เวลา 09.00-10.00 น. ที่หอประชุม ชั้น 4 ในหัวข้อ "โบราณคดีสนามในฐานะของงานชาติพันธุ์วิทยาระยะยาว"

โบราณคดีเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมานุษยวิทยา และเป็นสหวิทยาการที่ศึกษาพลวัตของคน สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในอดีตผ่านวัตถุทางวัฒนธรรมที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน งานโบราณคดีสนามในประเทศไทยส่วนใหญ่ดำเนินการในพื้นที่ราบที่งานโบราณคดีเป็นที่รับรู้ของชุมชนและทำงานเฉพาะแหล่งเป็นเวลาระยะสั้นๆ ขณะที่การทำงานบนพื้นที่สูงประกอบด้วยเทือกเขาหินปูนสูงชันสลับซับซ้อน ป่าไม้หนาแน่น และเส้นทางทุรกันดารเข้าถึงยาก ทำให้รูปแบบการทำงานสนามมีความแตกต่าง

งานวิจัยโบราณคดีพื้นสูงอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีประเด็นการวิจัยเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยไพลโตซีนตอนปลายจนถึงโฮโลซีนตอนปลาย (40,000-1,000) โดยมีหน่วยวิเคราะห์ 4 ระดับคือแหล่งโบราณคดี ท้องถิ่น ภูมิภาคและโลก เนื่องจากพื้นที่วิจัยสนามที่มีความหลากหลายทางกายภาพ ชีวภาพ และวัฒนธรรม ทำให้นักโบราณคดีจำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมือทางความคิดในการออกแบบงานวิจัยทางโบราณคดีที่แตกต่างจากที่ราบ ทำงานให้หลายแหล่งศึกษาเพื่อสร้างข้อมูลระดับท้องถิ่นและภูมิภาค

วิธีวิทยาที่สำคัญคือการศึกษาเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อช่วยค้นหาตรรกะในการคาดการณ์หลักฐาน คิดค้นพัฒนาเทคนิคการสำรวจ การคัดสรรวิธีการวิเคราะห์ และการตีความทางโบราณคดี ทำให้การไขอดีตต้องใช้เวลา อีกทั้งปัญหาและความซับซ้อนของพื้นที่วิจัยที่ประกอบด้วยการทำงานในพื้นที่ของหลายกลุ่มชาติพันธุ์และการซ้อนทับชองอำนาจทางกฎหมายจากหลายหน่วยงาน ทำให้ระหว่างทำงานสนามระยะยาว

นักโบราณคดีจำเป็นต้องทบทวนสะท้อนย้อนคิดทั้งแนวคิดและวิธีวิทยา รวมทั้งปรับเปลี่ยน ปรับปรนให้ยืดหยุ่นกับธรรมชาติและเทคนิควิธีการทำงานที่แตกต่างกันของทีมวิจัยจากสหสาขา พร้อมประสานการทำงานร่วมกับชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง งานโบราณคดีสนามบนพื้นที่สูงเปรียบเสมือนกับงานชาติพันธุ์วิทยาระยะยาว ที่ช่วยอธิบายพลวัตของการปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในอดีต เช่นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การเคลื่อนย้ายและพลวัตภายในชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่วิจัยแต่ละยุคสมัย บทเรียนที่ไม่มีในตำรานี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกับบนพื้นที่สูงในภูมิภาคอื่น

วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00-10.00 น. ณ หอประชุม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ความคิดเห็น

วีดีโอที่เกี่ยวข้อง