สารคดีชุด “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” : การดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ตลอดระยะเวลา 12 ปี ที่ผ่านมา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้นำหลักคิดสำคัญที่ปรากฏอยู่ในมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 คือ “พื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ” หรือปัจจุบันเรียก “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” มาใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการทำงาน โดยให้ความสำคัญกับหลักการพื้นฐานคือ การเคารพสิทธิทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม ซึ่งก่อให้เกิดพื้นที่รูปธรรมที่แสดงให้เห็นศักยภาพและความสามารถในการจัดการตนเองของชุมชนชาติพันธุ์
ปัจจุบันมีชุมชนชาติพันธุ์ที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์รวมแล้ว 13 พื้นที่ชุมชน และมีชุมชนชาติพันธุ์ที่อยู่ระหว่างเตรียมประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์อีกไม่น้อยกว่า 30 ชุมชน แสดงให้เห็นความสนใจต่อการนำแนวคิดที่ปรากฏอยู่ในมติคณะรัฐมนตรีมาใช้เป็นเครื่องมือและกลไกในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม
ในวาระครบรอบ 12 ปี มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ขอเชิญชวนชมสารคดีชุด “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” : การดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมั่นคงและยั่งยืน จำนวน 3 เรื่อง
(1) หน่ออ่อน ผู้สืบสานบ้านห้วยหินลาดใน บ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย พื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษนำร่องตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบ ที่แสดงให้เห็นศักยภาพของชุมชนในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงความอุดมสมบูรณ์ โดยนำหลักความเชื่อ และจารีตประเพณีของชาวกะเหรี่ยงมาปรับใช้เพื่อดูแลและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนแสดงให้เห็นความสามารถของชุมชนที่จะอยู่ร่วมกับป่าและใช้ประโยชน์จากป่าได้ได้อย่างสมดุล ปัจจุบันกลุ่มเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน ได้นำความรู้สมัยใหม่มาปรับประยุกต์ในการพัฒนาผลผลิตที่เกิดขึ้นจากป่าภายในชุมชน ไม่ว่าจะน้ำผึ้ง ชา สบู่ ซึ่งเป็นสินค้าที่สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชนได้อย่างมั่นคง การดำรงอยู่ในฐานะชุมชนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จึงแสดงให้เห็นศักยภาพในการบริหารจัดการ และปรับใช้ทุนทางวัฒนธรรมภายในชุมชนได้อย่างหลากหลาย สามารถพึ่งพาตนเองและช่วยดูแลทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
(2) ตาหลู่เก่อชอ ดอยช้างป่าแป๋ วิถีชุมชนกับการจัดการผืนป่าอย่างยั่งยืน บ้านดอยช้างป่าแป๋ (ตาหลู่เก่อซอ) ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เมื่อ 28 กุมพาพันธ์ 2563 ภายใต้การจัดทำและจัดเก็บข้อมูลชุมชนอย่างเป็นระบบทั้งในด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชน การจัดทำแผนที่แสดงขอบเขตเชิงกายภาพ ครอบคลุมพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชน รวมถึงข้อมูลการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งถือเป็นชุดข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่ช่วยยืนยันและแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่าที่สามารถอยู่กันได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน นำมาสู่การวางแผนและออกแบบแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในพื้นที่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิทางวัฒนธรรมและการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชนชาติพันธุ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
(3) ขุนแม่เหว่ย กับการเตรียมประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ บ้านขุนแม่เหว่ย (แม่ปอคี) ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนมาอย่างยาวนาน ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงดำรงวิถีการทำไร่หมุนเวียนเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต โดยในไร่หมุนเวียนจะเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณที่หลากหลาย ช่วยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ อย่างไรก็ตามท่ามกลางการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชนในหลายๆ ด้าน ทำให้กลุ่มเยาวชนและชาวบ้านลุกขึ้นมาจัดการข้อมูลชุมชนเพื่อเตรียมประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันวิชาการในพื้นที่ร่วมกันพัฒนากลไกและแนวทางการดำเนินงาน ด้วยเชื่อมั่นว่าพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยยืนยันและปกป้องคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ให้สามารถดำรงอยู่ได้ตามวิถีดั้งเดิมของตน พร้อมกับการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ บนผืนแผ่นดินของบรรพบุรุษอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป
โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)