งานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 13 และ ศมส. ร่วมประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ลำดับที่ 19
โดย เจษฎา เนตะวงศ์, สุดารัตน์ ศรีอุบล (นักบริหารเครือข่าย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)
ศมส. ร่วมประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ลำดับที่ 19 ในงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 13 วันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2566
งานรวมญาติชาวเลครั้งที่ 13 จัดขึ้น ณ ชุมชนชาวเลมอแกลนบ้านแหลมหลา – หินลูกเดียว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต งานนี้เกิดบนความตั้งใจของเครือข่ายชาวเล (มอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย) ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด ซึ่งมารวมตัวกันเป็นประจำทุกปี เสมือนเป็นการรวมญาติที่กระจายกันอยู่ เพื่อมาร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหา ความสุข ความทุกข์ของแต่ละพื้นที่ รวมถึงการให้ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน สอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล โดยมีเจษฎา เนตะวงศ์ และ สุดารัตน์ ศรีอุบล นักบริหารเครือข่าย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เข้าร่วมงาน
ในวันแรก ได้แลกเปลี่ยนเวทีเสวนาเรื่อง “แนวนโยบายความร่วมมือคุ้มครองวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการเข้าถึงสวัสดิการสังคม” โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ พบว่า ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นผลมาจากการกำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ละเลยไม่ให้ความสำคัญต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรม ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายทุนเอกชนกับชุมชนชาติพันธุ์ที่ถูกเบียดขับจากผืนดินดั้งเดิม สถานการณ์เหล่านี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเผชิญปัญหาการขาดความมั่นคงในการดำรงชีวิต การเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการและบริการจากรัฐในฐานะพลเมืองอย่างเท่าเทียม ขาดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของตน เป็นความเสี่ยงต่อการสูญสลายของความเป็นชาติพันธุ์ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
การเสวนาในครั้งนี้จึงมีการเสนอแนวทางการทำงานหน่วยงานภาครัฐต้องมีการปรับบทบาทและแนวทางการทำงาน โดยเฉพาะการกำหนดแนวนโยบายที่ต้องมีความสอดคล้องกับบริบทสังคม วัฒนธรรมของกลุ่มคนและชุมชน ไม่ใช่ลักษณะของการเหมารวมเหมือนที่ผ่านมา โดยได้มีการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางปกป้องคุ้มครองและเคารพสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนเป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาสังคม และชุมชนชาติพันธุ์อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในปี 2567 ต้องประกาศให้มีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล 10 ชุมชน และขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทั้ง 46 ชุมชน ภายในปี 2570
อย่างไรก็ตาม ศมส. ได้เน้นย้ำให้เห็นหลักการสำคัญของการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์คือการจัดทำข้อมูลชุมชนที่แสดงให้เห็นข้อมูล หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพื่อยืนยันหลักสิทธิชุมชนดั้งเดิม ตลอดจนการนำเสนอให้เห็นข้อมูลวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่แสดงให้เห็นความโดดเด่นและอัตลักษณ์ของความเป็นชุมชนชาติพันธุ์ การจัดทำข้อมูลพื้นที่ทางกายภาพของชุมชนให้ชัดเจน ประกอบด้วยพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ใช้ประโยชน์ พื้นที่พิธีกรรม และพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้สามารถเรียกรวมได้ว่าเป็น “พื้นที่จิตวิญญาณ” ของชุมชนชาติพันธุ์
นอกจากนี้ภายใต้กระบวนการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์นั้น จำเป็นต้องมีการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญต่อการสร้างการรับรู้และยอมรับจากทุกภาคส่วน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชนชาติพันธุ์สอดคล้องตามกรอบแนวคิดและหลักปฏิบัติของการเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมกัน ดังนั้นการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จึงไม่ใช่หมุดหมายสุดท้ายที่จะเป็นเพียงสัญลักษณ์ของการเป็นพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรม แต่เป็นกระบวนการสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตบนพื้นฐานการเคารพและยอมรับสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่แสดงให้เห็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การทำงานและมุมมองที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะหุ้นส่วนสำคัญของการพัฒนามากกว่าการเป็นกลุ่มเป้าหมายที่รอคอยการช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่างเดียว
ในวันที่สอง ถือเป็นโอกาสสำคัญต่อการนำเสนอให้เห็นศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชนชาติพันธุ์ชาวเล ได้มี “การประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมอแกลนบ้านหินลูกเดียว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต” โดยมี ร้อยตำรวจเอกธรรมนัส พรมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (PMOVE) เป็นประธานในพิธีเปิดพื้นที่คุ้มครองดังกล่าว ซึ่งได้รับฟังสถานการณ์ปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนชาติพันธุ์ชาวเลบ้านหินลูกเดียว พบว่าปัจจุบันยังเผชิญกับสภาพปัญหาที่มีความซับซ้อนในหลายมิติ ทั้งในด้านการขาดความมั่นคงในการดำรงชีวิตทั้งในด้านที่อยู่อาศัยที่ไม่มีระบบสาธารณูปโภคที่เพียงพอและมีคุณภาพ การมีผู้ป่วยติดเตียงภายในชุมชนที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ รวมถึงปัญหาสิทธิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทั้งในด้านการทำมาหากินและการใช้ประโยชน์ตามหลักจารีต ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์
และได้รับฟังการรายงานข้อมูลแนวคิดและหลักการการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนคำประกาศเจตนารมณ์ของชุมชนที่จะเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หลังจากนั้นจึงได้มีการลงนามบนหลักหมุดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมกันของผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยชุมชนชาวเลมอแกลนบ้านหินลูกเดียว ถือเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ลำดับที่ 19 การดำเนินงานในระยะต่อจากนี้ชุมชนชาวเลมอแกลนบ้านหินลูกเดียว จะได้ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต องค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาว ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มูลนิธิชุมชนไท และหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่กำหนดให้มีแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมอแกลนหินลูกเดียวให้ปรากฏเป็นรูปธรรมต่อไป
สำหรับชุมชนชาวเลมอแกลนบ้านหินลูกเดียว ได้เข้าร่วมกระบวนการพัฒนาศักยภาพการจัดการข้อมูลและจัดทำแผนบริหารจัดการบริหารพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และมูลนิธิชุมชนไท ซึ่งเป็นองค์กรพี่เลี้ยงในระดับพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำเสนอให้เห็นข้อมูลประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนมาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกันก็มีอัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมของความเป็นชาติพันธุ์ทีโดดเด่นทั้งในด้านการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรม เช่น ประเพณีนอนหาด การดำรงชีวิตด้วยการอยู่หากินในท้องถทะเล ตลอดจนการแสดงให้เห็นศักยภาพในการปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยรอบชุมชนตามวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมอแกลนอย่างมั่นคง และยั่งยืน การประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมอแกลนบ้านหินลูกเดียวจึงเป็นสิ่งที่แสดงการศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่จะได้เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและกำหนดแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตบนฐานการเคารพสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมกัน