มหกรรมวัฒนธรรมสานสัมพันธ์อิ้วเมี่ยนโลก ครั้งที่ 6

7 นาที | 589 View | 23 ก.พ. 2567

0

มหกรรมวัฒนธรรมสานสัมพันธ์อิ้วเมี่ยนโลก ครั้งที่ 6

โดย เจษฎา เนตะวงศ์, สุดารัตน์ ศรีอุบล (นักบริหารเครือข่ายนักบริหารเครือข่ายและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)

ศมส. ร่วมเดินหน้ากฎหมายชาติพันธุ์สานพลังเครือข่ายชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน

.

16-17 ก.พ. 2567

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) เข้าร่วมเวทีสานสัมพันธ์วัฒนธรรมอิ้วเมี่ยนโลก ครั้งที่ 6 ณ จ.พะเยา โดยเจษฎา เนตะวงศ์ และ สุดารัตน์ ศรีอุบล นักบริหารเครือข่ายและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ได้เสวนาแลกเปลี่ยนเรื่องการจัดการฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์รวมถึงกฎหมายและพื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญใน ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีคุณกิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี จากสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เป็นผู้นำเสนอความคืบหน้าของระบบฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

.

ข้อค้นพบที่ได้จากการเก็บข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนที่ได้นำเสนอครั้งนี้ คุณกิตติศักดิ์ นำเสนอว่า มีการจัดการข้อมูลต่างจากในอดีตเพราะเปิดโอกาสให้เจ้าของวัฒนธรรมคือพี่น้องอิ้วเมี่ยนมีส่วนร่วมในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในชุมชนของตนเองได้ อาทิ มีทุนทางกายภาพที่โดดเด่น มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์และมีแหล่งน้ำที่ส่งผลต่อการปลูกกาแฟ มีป่าต้นน้ำและแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตร และสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชน เช่น ภูผาแดง ถ้ำผาแดง ในเรื่องทุนทางวัฒนธรรมพี่น้องอิ้วเมี่ยนยังคงพยายามรักษาสืบทอดอัตลักษณ์เรื่องภาษาที่มีการเขียนอักษรจีนโรมัน และยังนับถือเทพเจ้าบรรพบุรุษเหนี่ยวแน่น ทุนเศรษฐกิจมีรายได้สำคัญจากการทำสวนผลไม้ ปลูกกาแฟ ค้าขาย ทำการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และบางส่วนไปทำงานที่ต่างประเทศ และทุนทางสังคมมีการรวมกลุ่มทั้งในชุมชนภายในประเทศและนานาชาติ เช่นในการจัดงานครั้งนี้มีเครือข่ายพี่น้องอิ้วเมี่ยนมารวมกันไม่ว่าจะเป็น อเมริกา ฝรั่งเศส แคนาดา จีน เวียดนาม ลาว ในไทยก็มีทั้งจากจังหวัดพะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง น่าน สุโขทัย เพชรบูรณ์ ระนอง กำแพงเพชร และตาก

.

แม้จะมีความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายและมีความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ต่อยอดมาเป็นรายได้สำคัญของชุมชน แต่ยังพบความท้าทายที่พี่น้องอิ้วเมี่ยนต้องเผชิญคือบางแห่งยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินหรืออยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ ยังมีปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติ ไฟป่า น้ำท่วมพื้นที่ทำกิน และปัญหาด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร และการรับมือกับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชน ที่สำคัญคืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ต้องการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เช่น ภาษา เป็นความท้าทายสำคัญที่มีการถกเถียงเสนอแนะให้เกิดการจัดการเรียนการสอน หรือมีหลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียนก่อนที่จะสูญหายไป

.

จากนี้ ศมส. และผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนจะพัฒนาร่วมกันคือการปรับปรุงข้อมูลประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ของพี่น้องอิ้วเมี่ยนทั้ง 11 จังหวัด รวบรวมข้อมูลทำเนียบผู้รู้ในแต่ละด้าน เช่น ภูมิปัญญาการทำเครื่องเงิน การปักผ้า การจัดทำสื่อการเรียนรู้การเขียนอักษรจีนโรมันสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมถึงการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนการอบรมเชิงปฏิบัติการนักจัดการข้อมูลระดับตำบลด้วย โดยจะหาแนวทางทำความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องที่ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนที่สมบูรณ์ นำไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ต่อไป

.

นอกจากการเสวนาแล้ว ศมส. ยังได้ร่วมชมขบวนแห่อันแสดงถึงอัตลักษณ์ของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนทั่วโลก ที่มารวมกันสานพลังอย่างเข้มแข็ง โดยมีกิจกรรมทั้งการแสดง แฟชั่นโชว์อัตลักษณ์การแต่งกายและภูมิปัญญาการทำเครื่องเงิน และร้านค้าเครื่องแต่งกายแบบอิ้วเมี่ยนอีกด้วย

ความคิดเห็น

วีดีโอที่เกี่ยวข้อง