เวทีเสวนา เดินหน้ากฎหมายชาติพันธุ์ สานพลังเครือข่ายชาติพันธุ์ภาคอีสาน

10 นาที | 545 View | 14 ก.พ. 2567

0

เดินหน้ากฎหมายชาติพันธุ์ สานพลังเครือข่ายชาติพันธุ์ภาคอีสาน

โดย เจษฎา เนตะวงศ์, สุดารัตน์ ศรีอุบล (นักบริหารเครือข่าย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)

เวทีเสวนา เดินหน้ากฎหมายชาติพันธุ์ สานพลังเครือข่ายชาติพันธุ์ภาคอีสาน

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) ร่วมกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ภาคอีสาน 10 กลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบด้วย ผู้ไท โส้ โซ่ทะวึง แสก บรู กูย ญัฮกุร กะเลิง ญ้อ โย้ย ร่วมกันสะท้อนสถานการณ์โอกาสและข้อจำกัดของพี่น้องชาติพันธุ์ภาคอีสาน พร้อมหารือแนวทางเตรียมพร้อมการจัดเก็บจัดการข้อมูลชาติพันธุ์ หนุนเสริมกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ณ วัดบ้านโนนหอม อ.เมือง จ.สกลนคร

สถานการณ์พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ภาคอีสานเผชิญกับปัญหาการเข้าถึงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ในชุมชนที่อยู่อาศัยติดกับบริเวณอุทยานแห่งชาติ แต่ก็มีการวางแผนประกาศพื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อกำหนดแนวทางใช้พื้นที่ นอกจากนี้ยังพบสถานการณ์สำคัญที่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคอีสานเห็นตรงกันว่ามีความสำคัญที่จะต้องหาแนวทางการคุ้มครองและส่งเสริมร่วมกันคือข้อจำกัดเรื่องอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่อาจจะสูญหายไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ภูมิปัญญา วิถีวัฒนธรรม ต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องภาษากลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ภาษาบรู ภาษาญัฮกุร ภาษาโส้ เป็นต้น ซึ่งภาษาเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ความรู้ ภูมิปัญญา หรือวิถีปฏิบัติวิถีชีวิตของพี่น้องยังคงอยู่และไม่สูญหายไป จึงมีการหารือแนวทางการสร้างหลักสูตรท้องถิ่นในสถานศึกษาหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพร่วมกันได้

ทั้งนี้ ในปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้น ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือสื่อต่าง ๆ เกิดกระแสการนำทุนทางวัฒนธรรมมาใช้ประโยชน์ และสื่อสารกันยิ่งขึ้น ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในฐานะองค์กรที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงได้เริ่มโครงการพัฒนาชุดข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ สนับสนุนให้พี่น้องจัดเก็บ จัดการ ข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ของตนเอง และสร้างให้เกิดความรู้สึกร่วม มีความภูมิใจและตระหนักถึงการเป็นเจ้าของข้อมูลที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลของกลุ่มชาติพันธุ์ตนเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากการเดินหน้ากฎหมายชาติพันธุ์ สานพลังเครือข่ายชาติพันธุ์อีสาน ในครั้งนี้พี่น้องมีความมั่นใจว่าการมีกฎหมายชาติพันธุ์จะช่วยคุ้มครองวิถีชีวิต ส่งเสริมศักยภาพ และสร้างความเท่าเทียมอย่างเป็นธรรมให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ได้

วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศาลาการเปรียญวัดบ้านโนนหอม ตำบลโนนหอม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร

ความคิดเห็น

วีดีโอที่เกี่ยวข้อง