EP.20-C04 ประชุมวิชาการ มานุษยวิทยา 65 หัวข้อ Emerging Methodologies - วิธีวิทยาทะลุกรอบ

2 ชั่วโมง 3 นาที | 202 View | 25 ต.ค. 2565

0

เสวนา เสียงศึกษาจากมุมมองสหวิทยาการ

เสวนาโดย

อ.ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ

ดร.ธัชธรรม ศิลป์สุพรรณ

ดร.รวิตะวัน โสภณพนิช

ดร.ภูมิภักดิ์ จารุประกร

อ.กุลธีร์ บรรจุแก้ว

ดำเนินรายการ อ.ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ

จุดหักเหสำคัญในการศึกษาทางมานุษยวิทยาหลัง ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา วางบนพื้นฐานคำถามที่เรียบง่ายแต่มีนัยถึงรากถึงโคนต่อแนววิธี (method) ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการทำงานชาติพันธุ์นิพนธ์ นั่นคือ การใช้ดวงตาในการสำรวจตรวจตราชีวิตทางวัฒนธรรมของผู้อื่น ควบคู่ไปกับการพยายามจดบันทึกปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม รวมไปถึงย่อยข้อมูลทุกประเภททั้งภาพถ่ายและเสียงบันทึกให้อยู่ในรูปแบบของอักษรเพื่อสามารถนำไปเขียนและตีพิมพ์เผยแพร่ต่อไปในภายหลัง  แนววิธีการทำงานในลักษณะนี้แม้จะได้รับการยอมรับและกลายเป็นขนบการทำงานทางชาติพันธุ์นิพนธ์ แต่ยังคงมีข้อจำกัดในแง่มุมของการลดทอนความเป็นไปได้อื่น ๆ ในการทำความเข้าใจและเผยแพร่คุณค่าและความหมายของวัฒนธรรมอื่น ทั้งยังเป็นการทำงานที่ตกอยู่ภายใต้การใช้ดวงตาและการมองเห็นเป็นศูนย์กลาง (Ocularcentrism) ในการรับรู้ความจริงของโลก การทำงานเช่นนี้เป็นผลผลิตของสภาวะความทันสมัยที่กำหนดให้ “ทัศนานิยม” (Visualism) อยู่ในลำดับสูงสุดของการค้นหาความรู้  มีผลให้ การสำรวจตรวจสอบประสบการณ์ทางวัฒนธรรมอื่นและของคนอื่นในรูปแบบที่มิอาจทัศนาพินิจได้ด้วยสายตา (Non-visual mode) เป็นสิ่งที่ถูกประเมินค่าต่ำและถูกละเลยอยู่เสมอ ข้อเสนอประการหนึ่งของนักมานุษยวิทยาที่ต้องการข้ามพ้นข้อจำกัดในข้างต้นก็คือ จำเป็นต้องมีการเคลื่อนเปลี่ยนศูนย์กลางการรับความรู้สึก (the shifting sensorium) จากการใช้ดวงตาในการสังเกตการณ์ไปสู่การใช้หูฟังเสียง หรือใช้ผัสสะการรับรับรู้ประเภทอื่นที่ดำเนินการควบคู่กันไปในลักษณะที่เป็นพหุผัสสะ (Multi-sensory) มากกว่าที่จะถูกผูกขาดด้วยด้วยผัสสะใดผัสสะหนึ่ง การศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านผัสสะหลากประเภทจึงเป็นเสมือนการบุกเบิกพรมแดนความรู้ใหม่และสลายพรมแดนของมานุษยวิทยาเพื่อมุ่งสู่ความเป็นสหวิทยาการ (interdisplinenary) มากยิ่งขึ้น

ความคิดเห็น

วีดีโอที่เกี่ยวข้อง