เปิดตำนานราชวงศ์ปาไซ: พินิจเอกสารโบราณสมุทรรัฐมุสลิมแรกแห่งเอเชียอาคเนย์
โดย ดร.ตรงใจ หุตางกูร, สุนิติ จุฑามาศ, อ.ณัฐพล จันทร์งาม
กิจกรรมเสวนาโครงการศึกษาแปลความเอกสารโบราณ "เปิดตำนานราชวงศ์ปาไซ: พินิจเอกสารโบราณสมุทรรัฐมุสลิมแรกแห่งเอเชียอาคเนย์"
ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทำงานโครงการศึกษาแปลความเอกสารโบราณของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ในการศึกษาหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย ประเทศเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ภาคพื้นสมุทร (Maritime Southeast Asia) เรื่อง ฮิกายัตราชาราชาปาไซ (Hikayat Raya-raya Pasai) หรือ ตำนานราชวงศ์ปาไซ เป็นเรื่องราวการกำเนิดอาณาจักรสมุทร-ปาไซ (Semudera-Pasai) รัฐโบราณตอนเหนือของเกาะสุมาตราในช่วงราวปลายศตวรรษที่ 13 (พุทธศตวรรษที่ 18) อันเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านหลังการเสื่อมอำนาจของอาณาจักรศรีวิชัย พร้อมกับการเข้ามาของศาสนาอิสลาม และการขยายอิทธิพลของชวาในภูมิภาคหมู่เกาะอินโดนีเซีย
ส่วนสำคัญของเอกสารนี้ คือตำนานการเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามของเมอระห์ ซีลู (Merah Silu) เจ้าเมืองปาไซ ซึ่งสะท้อนกระบวนการอิสลามานุวัตร (Islamization) ของชาวพื้นเมืองดั้งเดิมของสุมาตรา ผ่านตำนานทางศาสนาอันน่ามหัศจรรย์ และความสัมพันธ์โพ้นทะเลกับดินแดนอาหรับและอินเดียใต้ ซึ่งนับได้ว่า ณ แดนใต้ลมแห่งเกาะสุมาตรานี่เอง เป็นจุดกำเนิดของรัฐอิสลาม (Islamic kingdom) แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เก่าแก่ไปกว่ารัฐสุลต่านมะละกาและปาตานี ที่รุ่งเรืองต่อมาในช่วงศตวรรษให้หลัง
นอกจากนี้ ฮิกายัตราชาราชาปาไซยังบอกเล่าโลกทัศน์และวัฒนธรรมของชนชาวหมู่เกาะที่แปลกใหม่ไปจากความรับรู้ของคนไทย ตลอดจนเรื่องราวความสัมพันธ์ทางการเมืองและการสงครามกับมหาอำนาจของภูมิภาคอย่างอาณาจักรสยาม และ อาณาจักรมัชปาหิตแห่งชวา ในช่วงศตวรรษที่ 13-14 ที่พยายามขยายอำนาจครอบครองดินแดนใต้ลมแห่งนี้อีกด้วย ร่วมกันพินิจความเป็นมาในอดีตของประเทศเพื่อนบ้านอินโดนีเซีย ในประเด็นประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษาศาสตร์และวรรณกรรม ไปกับวิทยากรผู้ร่วมคณะทำงานศึกแปลความเอกสารโบราณของ ศมส. ซึ่งอาจช่วยคลี่คลายประเด็นปัญหาทางประวัติศาสตร์และเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับประเทศไทยอย่างคาดไม่ถึง
ร่วมเสวนา โดย
วันพฤหัสบดี 31 สิงหาคม 2566
เวลา 13.30-15.00 น.
ณ ห้อง 601 ชั้น 6 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร